คำว่า “เงินเฟ้อ” เชื่อว่าเป็นคำที่หลายๆ คนน่าจะเข้าใจกันอยู่บ้างแล้ว แต่ก็อาจจะสงสัยว่าเงินเฟ้อเกิดขึ้นได้อย่างไรและมันมาจากไหน ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว เงินเฟ้อจะเกิดจากปัจจัยด้าน “การผลิต” และ ด้าน “การบริโภค”

ปัจจัยด้านการผลิตก็คือ ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้นทั้งจากค่าแรง ต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ส่วนปัจจัยด้านการบริโภคก็คือ เรื่องของความต้องการในการบริโภค ถ้าความต้องการมากราคาก็จะขยับขึ้นเพราะเกิด ความต้องการล้นตลาด (Excess Demand) นึกภาพง่ายๆว่าถ้ามีของอยู่ชิ้นนึงขายอยู่ที่ 10 บาทแล้วมีคนต้องการ 2 คนพร้อมกัน ก็จะมีอีกคนที่ยอมจ่ายราคาที่แพงขึ้นเพื่อให้ได้สินค้านั้นมา

แต่ถ้าความต้องการในการบริโภคลดลงราคาก็จะปรับตัวลดลงเพราะเกิด สินค้าล้นตลาด (Excess Supply) เมื่อคนไม่ต้องการผู้ขายก็ยินดีที่จะลดราคาเพื่อให้สินค้าตัวเองขายได้

โดยทั่วไปเงินเฟ้อเราสามารถดูได้จาก Consumer Price Index (CPI) หรือดัชนีผู้บริโภคจะเป็นการเก็บสำรวจจากราคาสินค้าโดยเฉลี่ยในตลาดหลักๆ โดยเปรียบเทียบกับเมื่อช่วงเวลาก่อนหน้านั้นราคาสินค้าได้ขยับปรับเปลี่ยนไปเท่าไหร่ เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร โดยผู้ที่รับผิดชอบในการสำรวจก็คือสำนักดัชนีเศรษกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะมีการเก็บข้อมูลทุกๆเดือนและประกาศออกมา ถ้า CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นก็แปลว่าเรากำลังเจอสภาวะเงินเฟ้อในอัตราที่สูงขึ้น

ถ้าเกิดเงินเฟ้อให้อัตราที่สูง เราจะเรียกว่า Hyper-Inflation ส่วนตัวคิดว่าถ้าเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่ใช่สภาวะปกติ มักจะมาจากการ “เสื่อมค่า” ของเงินมากกว่าที่เป็นเรื่องการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตหรือความต้องการมากขึ้น

เพราะปัจจุบันนี้เราใช้ “เงินสกุลต่างๆ (Currency)” เป็นสื่อกลางในกลางแลกเปลี่ยนแทน และที่สำคัญเงินพวกนี้เราสามารถพิมพ์ออกมาเท่าไหร่ก็ได้ ถึงแม้จะมีกฎระเบียบว่าเราจะต้องวางหลักประกันไว้ก่อนพิมพ์ก็ตาม ปัญหาก็อยู่ที่ว่าถ้าวันหนึ่งเราพิมพ์เงินกันมากจนเกินไป จนคนไม่เห็นค่าของเงินที่เราถืออยู่ในกระเป๋า แต่เห็นค่าของ “สินค้า” มากกว่า ก็ไม่น่าแปลกใจที่คนจะยอมใช้เงินที่เยอะขึ้นเพื่อแลกสินค้าและบริการ

ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดว่าทำไม “ที่ดิน” ถึงราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็เพราะว่าเป็นของที่มีจำกัด… แต่เงินที่เราถืออยู่ในกระเป๋าเราสามารถพิมพ์ได้ไม่จำกัด…เมื่อเวลาผ่านไปราคาที่ดินก็จะปรับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลักการนี้ก็ใช้กับสินค้าประเภทอื่นๆ ได้เช่นกัน นั่นเลยเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมโลกเราถึงมีสิ่งที่เรียกว่า “เงินเฟ้อ”

เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรเก็บเงินของเราในรูปของสกุลเงิน (Fiat Currency) เพราะในระยะยาวแล้วสกุลเงินจะเสื่อมค่าลงเรื่อยๆ จากการพิมพ์เงินของรัฐบาลทุกรัฐบาลในโลก แต่เราควรเก็บเงินเราในรูปแบบสินค้าที่มีจำกัดมากกว่า

อัตราเงินเฟ้อคืออะไร?
Tagged on: