พอพูดถึง SMEs ใครๆก็คิดว่าเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ตอนนี้ใครๆก็หันมาให้ความสนใจกับ Startup กันหมด ซึ่งความจริงแล้วหลายๆคนยังเข้าใจคอนเซปท์ของ Startup คลาดเคลื่อนไป เพราะทุกคนคิดว่า SMEs คือร่างแปลงของ Startup นั่นแหละ!!! แต่ที่จริงแล้ว SMEs กับ Startup มีความแตกต่างกันพอสมควร เริ่มที่ขนาดกันก่อน ขนาดของธุรกิจนั้นถ้าให้เปรียบเทียบกันขนาดของธุรกิจ SMEs จะมีขนาดใหญ่กว่าขนาดของธุรกิจ Startup ที่อาจจะเริ่มต้นจากกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ข้อแตกต่างต่อมาก็คือแนวคิด ธุรกิจ SMEs จะมีแนวคิดเกี่ยวการพัฒนาหรือต่อยอดจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม ในขณะที่ Startup นั้นจะเน้นที่การสร้างเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Grab, Uber เพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาต่างๆที่มีอยู่ ข้อแตกต่างสุดท้ายคือ SMEs นั้นใช้เทคโนโลยีเดิมที่มีเพื่อพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ Startup นั้นเน้นการสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่มีใครทำมาก่อนเพื่อสร้างสินค้าและผลิตภัณฑ์

และเมื่อเหล่ามนุษย์เงินเดือนอยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง ก็น่าจะเลือกทำธุรกิจที่เราเองมีความถนัดและยิ่งถ้าเราไม่ใช่สายเทคโนโลยีล่ะก็ ธุรกิจ SMEs คือคำตอบสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆให้มีโอกาสที่เริ่มต้นทำธุรกิจในแบบของเราเอง

1. เริ่มต้นหาไอเดียสร้าง Product

แน่นอนว่าถ้าเราต้องการขายผลิตภัณฑ์ (Product) สักอย่าง เราก็ต้องรู้ว่าผลิตภัณฑ์ของเราคืออะไร หรือมีบริการอะไรที่คนต้องการ อาจจะหาไอเดียจากสิ่งที่เรามีความรู้มาก่อนหรือว่าลองเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราอยากทำมาตลอดก็ได้ แม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่อาจจะยังไม่เคยมีคนทำมาก่อนเพราะไม่มีคนประดิษฐ์ขึ้นมา

สิ่งต่อมาที่เราควรคิดก็คือชื่อของบริษัท ซึ่งชื่ออาจจะเป็นชื่อที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะยิ่งธุรกิจเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ ชื่อบริษัทก็สามารถเปลี่ยนให้ชัดเจนและสื่อถึงผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่เราควรคิดถึงเวลาตั้งชื่อบริษัทมีวิธีการจำคือ ชื่อบริษัทควรมี ‘2 ง่าย’ นั่นคือ จำง่าย และ เข้าใจง่าย

2. วาดแผนการตลาด

ขั้นตอนหลังจากที่เราตัดสินใจเกี่ยวกับไอเดียสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แล้ว ต่อมาเรื่องที่ต้องทำให้เรียบร้อยคือเรื่องของการเขียนแผนธุรกิจ เพราะการเขียนแผนธุรกิจจะช่วยให้เรารู้ว่าขั้นตอนต่อไปที่ต้องทำเพื่อให้ธุรกิจของเราดำเนินต่อไปได้คืออะไร การเขียนแผนธุรกิจนั้นยิ่งเขียนรายละเอียดมากเท่าไหร่ยิ่งดีต่อธุรกิจของคุณมากขึ้นเท่านั้น ตั้งแต่ลักษณะของธุรกิจ, ลักษณะของบริษัท ไปจนถึงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ของคุณ รวมทั้งข้อดีและข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์นั้นๆเพื่อใช้เปรียบเทียบกับบริษัทที่เป็นคู่แข่งของคุณ

เมื่อได้แผนและมีตัวอย่างผลิตภัณฑ์แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือหา feedback เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเรา เริ่มจากคนใกล้ตัวอย่างญาติหรือเพื่อนๆก็ได้ เพราะคนเหล่านี้จะให้ความเห็นได้อย่างเร็วที่สุดและเมื่อเราได้ feedback กลับมาก็นำไปใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นแล้วก็ออกหา feedback วนกลับไปมาจนกว่าจะได้ผลงานที่ดีที่สุด

3. วางแผนเรื่องการเงิน

ขอให้คิดอยู่เสมอว่าเงินสำหรับการทำธุรกิจก็เหมือนกระแสเลือดสายสำคัญในร่างกายของเรา ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่างบที่เราใช้สร้างธุรกิจนั้นควรมีเราเท่าไหร่ หากเงินที่นำมาใช้ทำธุรกิจนั้นคือเงินที่มาจากการเก็บออม เราไม่ควรนำเงินออมทั้งหมดมาใช้ลงทุน เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง หากนำเงินที่มีทั้งหมดมาลงทุน แล้วผลตอบแทนธุรกิจไม่ได้ตามที่หวังอาจจะทำให้สูญเสียเงินทั้งหมดไปได้

4. หา Partner ที่วางใจได้

เพราะการทำธุรกิจการมีหุ้นส่วนนั้นช่วยแบ่งเบาภาระที่เราต้องลงทุนไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุดิบต่างๆหรือทรัพยากรอื่นๆ นั่นทำให้การคัดเลือกหุ้นส่วนสำคัญมาก เพราะคนที่จะมาร่วมทำธุรกิจนั้นต้องเห็นภาพรวมของธุรกิจที่ทำอยู่ในแบบเดียวกับที่เราเห็น คือแผนในการดำเนินธุรกิจควรจะเป็นภาพเดียวกัน หากเห็นภาพต่างกันหรือขัดแย้งกันย่อมไม่อาจทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้

5. ศึกษาเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับ SMEs แบบรอบด้าน

หาที่ปรึกษาด้านกฎหมายสำหรับคอยให้คำปรึกษาไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจหรือแม้แต่กฎหมายด้านภาษีเองก็ตาม เรื่องเหล่านี้หากเราได้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยก็จะทำให้การดำเนินงานทำได้ง่ายขึ้น และอีก 1 เรื่องที่ควรทำคือ การเปิดบัญชีสำหรับเงินที่เป็นผลประกอบการเท่านั้น เราไม่ควรนำเงินมาใส่บัญชีส่วนตัวเพราะนั่นทำให้การจัดระบบบัญชีไม่แบ่งแยกชัดเจนและนั่นเป็นสาเหตุที่หลายบริษัท SMEs ต้องปิดตัวลงเพราะการไม่แบ่งแยกบัญชีให้ชัดเจน ไม่แบ่งว่าบัญชีไหนคือผลประกอบการทำให้เราไม่รู้ว่าเงินผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนนั้นได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่

6. เปิดตัวผลิตภัณฑ์ของคุณ

แน่นอนว่าการวางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์นั้น เริ่มต้นจากการหาพื้นที่สำหรับจัดวางขายผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ คุณควรแบ่งส่วนพื้นที่ให้ชัดเจนว่าส่วนในคือสำนักงาน และส่วนไหนคือส่วนที่ใช้เก็บผลิตภัณฑ์ และส่วนไหนสำหรับการพักผ่อน อย่าลืมตรวจสอบกฎหมายให้ดีด้วยเพราะธุรกิจบางประเภทไม่อนุญาตให้ดำเนินการภายในที่อยู่อาศัยได้ และตรวจสอบการติดต่อต่างๆภายในสำนักงานว่าสามารถใช้ได้ตามปกติ เพราะนั่นช่วยให้เราสามารถติดต่อกับลูกค้าที่สนใจในผลิตภัณฑ์ของเราโดยตรงได้

เริ่มต้นธุรกิจ ง่ายๆด้วย 6 ขั้นตอน
Tagged on: